Last updated: 9 May 2018 | 6787 Views |
ต้นกำเนิดข้าวไรซ์เบอรี่
ข้าวไรซ์เบอรี่ (ภาษาอังกฤษ: Rice Berry) เป็นผลงานการปรับปรุงสายพันธุ์ของ รศ.ดร.อภิชาติ และทีมนักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ + ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ ทำให้ได้ลักษณะที่ดีและคุณประโยชน์เด่นๆ ออกมา ซึ่งพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ห้ามมีการนำไปขยายพันธุ์ในเชิงการค้าต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก วช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ลักษณะข้าวไรซ์เบอรี่
ข้าวไรซ์เบอรี่มีลักษณะเรียวยาว ผิวมันวาว เป็นข้าวจ้าวสีม่วงเข้มคล้ายกับลูกเบอร์รี่ที่มีสีม่วงเข้มเมื่อสุก หากเป็นข้าวกล้องจะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีรสชาติหอมมัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม เนื่องจากผ่านการขัดสีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น จึงยังทำให้คงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้อย่างครบถ้วน ข้าวสายพันธุ์พิเศษสีม่วงนี้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีอายุเก็บเกี่ยว 130 วัน ให้ผลผลิตปานกลาง มีความสามารถต้านทานต่อโรคไหม้ แต่ไม่ต้านทานโรคหลาว จึงแนะนำให้เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกรอบของการปลูก
ถึงแม้ว่าจะมีข้อดีอยู่มากในการปลูกข้าวสายพันธุ์นี้แต่ยังไม่เป็นที่นิยมเพาะปลูกในหมู่เกษตรกรมากนัก เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวที่ดูแลรักษายาก ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ อีกทั้งยังต้องปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งต้องปลูกในสภาพอากาศเย็น ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อสีของเมล็ดข้าว และจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการที่มีอยู่ในข้าวไรซ์เบอรี่มีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
สรรพคุณ และคุณค่าทางอาหาร
ข้าวไรซ์เบอรี่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูง โดยคุณประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดจะพบได้ในน้ำมันรำข้าว และรำข้าว มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระได้ดี อุดมไปด้วยโฟเลจในปริมาณสูง นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลายชนิด ได้แก่ เบต้าแคโรทีน, แกมมาโอไรซานอล, วิตามินอี, วิตามินบี 1, ลูทีน, แทนนิน, สังกะสี, โอเมก้า 3, ธาตุเหล็ก, โพลีฟีนอล และเส้นใย เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยในการ...
-บำรุงร่างกาย
-บำรุงสายตา
-บำรุงระบบประสาท
-ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
-ช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเหลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อม และโรคโลหิตจาง
-มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน ช่วยชะลอความแก่
-ลดระดับไขมัน และคอเรสเตอรอลได้
-เป็นการรับประทานเพียง 1 ที่ได้ถึง 2 เป็นทั้งข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย ทั้งยังเป็นสมุนไพรไปด้วยในตัว ครบทุกคุณประโยชน์แถมยังมีรสอร่อยถูกปากอีกด้วย
ผู้ที่สามารถทานข้าวไรซ์เบอรี่ได้
ข้าวไรซ์เบอรี่ เหมาะกับผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่รักสุขภาพ เพราะถือได้ว่าเป็นข้าวที่มีสารอาหารและคุณประโยชน์สูง โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้
ผู้สูงวัย ควรได้รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งข้าวไรซ์เบอรี่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเลือด ชะลอความแก่ บำรุงสายตาและระบบประสาท
ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน ที่สามารถเปลี่ยนมารับประทานข้าวไรซ์เบอรี่ที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมน้ำตาลและน้ำหนักได้ เนื่องจากในข้าวสายพันธุ์นี้มีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำกว่าข้าวทั่วไป
สตรีมีครรภ์ เมื่อได้บริโภคข้าวสายพันธุ์นี้เข้าไปแล้วจะช่วยให้บุตรในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ได้ เพราะในข้าวไรซ์เบอรี่มีสารโฟเลต อีกทั้งยังมีน้ำตาลต่ำ ช่วยให้มารดาควบคุมน้ำหนักไม่ให้ครรภ์เป็นพิษ อีกทั้งยังมีธาตุเหล็กสูงซึ่งในหญิงมีครรภ์จะมีความต้องการแร่ธาตุชนิดนี้มากกว่าคนปกติ
ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากรับประทานข้าวไรซ์เบอรี่เป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงโลหิตและบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
นอกจากนั้น ข้าวไรซ์เบอรี่ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมายหากรับประทานแทนข้าวขาวเป็นประจำ โดยเฉพาะข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ที่มีเส้นใย ช่วยลดระดับไขมันและคอเรสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก รักษาระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ เนื่องจากสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในข้าวชนิดนี้เสมือนเป็นยารักษาชั้นเลิศ ดังนั้น เราควรเลือกรับประทานอาหารเป็นยา ดีกว่าการรับประทานยาเป็นอาหาร
ในปัจจุบัน ข้าวไรซ์เบอรี่ กำลังได้รับความนิยมในบรรดาคนรักสุขภาพหันมาบริโภคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยคุณประโยชน์ที่มากมายจึงมีการนำเอาไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารโภชนบำบัดในทางการแพทย์ รวมถึงนำไปแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากมาย อาทิ ซูชิ โดนัท คุกกี้ เครื่องดื่มผงสำเร็จรูป และข้าวตังเป็นต้น
รงค์วัตถุสีม่วงของข้าวไรซ์เบอรี่
สีม่วงเข้มที่พบในข้าวไรซ์เบอรี่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติเนื่องจากมีส่วนประกอบเป็น "สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin)" ซึ่งก็คือรงค์วัตถุหรือสารสี สามารถละลายน้ำได้ดี และจัดอยู่ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ (flavonoid) หรือสาร "ต้านอนุมูลอิสระ" ที่มีประสิทธิภาพสูง
ค่าการต้านอนุมูลอิสระในข้าวไรซ์เบอรี่
สำหรับประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งมีสีม่วงเข้มมากตามธรรมชาติ อยู่ที่ 229 - 304.7 umole/g การศึกษานี้ทำด้วยวิธี ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) เรียกได้ว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลไม้หรือเครื่องดื่มชาเขียวที่ได้รับการยกย่องในด้านสรรพคุณที่ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระแล้ว ในข้าวชนิดนี้มีคุณค่าในการป้องกันสูงมากเกือบ 100 เท่า
ประสิทธิภาพสารต้านอนุมูลอิสระหลังการหุงต้ม
กระบวนการหุงข้าวหรือต้มข้าวไรซ์เบอรี่ด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระลดลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับในข้าวดิบ แต่หากเทียบกับผักผลไม้บางชนิด น้ำชาเขียวในท้องตลาด หรือน้ำผลไม้แล้ว เมล็ดข้าวสีม่วงชนิดนี้ก็ยังให้ผลในการป้องกันสารอนุมูลอิสระได้สูงกว่าอยู่ดี จึงถือว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ในเมื่อสารต้านอนุมูลอิสระไม่ได้ถูกทำลายไปจนหมด เมื่อเรารับประทานข้าวไรซ์เบอรี่เข้าไป รวมกับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีอยู่จากอาหารชนิดอื่นๆ ด้วยแล้ว จัดว่าเพียงพอที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
ใครที่ยังไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็อยากให้มองเรื่องของการดูแลเกี่ยวกับอาหารการกิน น่าจะเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตมากกว่า แต่หากพอมีเวลาก็อยากให้ออกกำลังกายควบคู่กันไป เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ข้าวไรซ์เบอรี่ อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เข้ากันได้ดีกับชีวิตของเราในทุกวันนี้ เพราะทุกมื้ออาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ
21 May 2018
12 Jun 2018