โรคกระเพาะอาหาร VS โรคกรดไหลย้อน ความเหมือนที่แตกต่าง

Last updated: 6 มิ.ย. 2561  |  3732 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคกระเพาะอาหาร VS โรคกรดไหลย้อน  ความเหมือนที่แตกต่าง

          การใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวันขึ้นอยู่กับความเร่งรีบ เคร่งเครียดวุ่นวาย ทำให้กิจกรรมทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปตามเวลา จนบางครั้งกระทบถึงการรับประทานอาหาร ทำให้รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา กว่าจะได้รับประทานแต่ละมื้อก็ล่วงเลยเวลาไปมาก หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ปัญหาสุขภาพที่จะตามมาก็คือโรคกระเพาะอาหาร และโรคกรดไหลย้อน ซึ่งโรคนี้กลายเป็นโรคที่คุ้นเคยและถือเป็นโรคประจำตัวของคนเมืองไปแล้ว

          ทั้งโรคกระเพาะอาหารและโรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น อาการของ 2 โรคนี้จะมีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่มีอาการปวด จุกเสียดแน่นท้องคล้ายอาหารไม่ย่อย เหมือนมีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ปวดแสบบริเวณลิ้นปี่ แต่ทั้งสองโรคนี้จะมีความแตกต่างกันที่รายละเอียดของอาการและตำแหน่งการแสดงอาการ




โรคกระเพาะอาหาร

          โรคกระเพาะอาหาร หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าโรคแผลในกระเพาะอาหาร หมายถึง การเกิดแผลขึ้นในเยื่อบุทางเดินอาหาร ตรงส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย ตำแหน่งที่พบอาการได้บ่อยจะอยู่ในกระเพาะส่วนปลาย ระหว่างรอยต่อของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารแล้วไม่ได้รับการดูแล อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          โรคกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดแสบ ปวดเสียด ตื้อ จุกและแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ซึ่งอาการจะเด่นชัดทั้งเวลาก่อนและหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ หรือเวลาที่ท้องว่างในตอนเช้าหรือก่อนนอน

          อาการปวดเหล่านี้เกิดจากภาวะกรดในกระเพาะอาหารสูง กรดนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองกัดผนังกระเพาะจนทำให้เกิดแผล โดยอาการปวด จุกเสียดแน่นนี้จะเป็นๆ หายๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละหลายครั้งตามเวลาของมื้ออาหาร และจะทุเลาลงเมื่อทานอาหารและน้ำเข้าไป

 




ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

  •  เกิดจากความบกพร่องทางร่างกายที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด อาจมีเนื้อเยื่อบุกระเพาะที่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถทนกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาได้ นานวันเข้าจึงทำให้เกิดแผลและเป็นโรคกระเพาะอาหารตามมา
  • เกิดจากภาวะทางอารมณ์ การทำงานหนักบนแรงกดดันสูง มีภาวะความเครียด วิตกกังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับและพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • เกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต มีลักษณะการรับประทานอาหารที่ไม่ดี กินเร็ว รีบเร่ง ทานอาหารไม่เป็นเวลา อดหรือข้ามมื้ออาหาร ดื่มชา กาแฟมากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือทานยาบางตัวที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เช่น ยาจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูก ข้อ ยาที่มีส่วนผสมของสตีรอยด์
  • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร” ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผนังและเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง มีความทนทานต่อกรดและน้ำย่อยน้อยลง ทำให้แผลหายช้า นอกจากนี้ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรยังเป็นเชื้อที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย




โรคกรดไหลย้อน

          สำหรับกรดไหลย้อน “เกิร์ด”(GERD) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่มีน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด (ประกอบด้วย กรดเกลือ หรือกรดไฮโดรคลอลิก) ล้นไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคือง บริเวณลำคอ แสบร้อนบริเวณทรวงอก และจุดเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ซึ่งอาการที่คล้ายกันแบบนี้ทำให้คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะ

          โรคกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร หย่อนสมรรถภาพ โดยปกติแล้วเมื่ออาหารเข้าไปสู่กระเพาะอาหาร หูรูดตัวนี้จะทำงานหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้หูรูดจะหย่อน ทำให้มีช่องว่างพอให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ เกิดความระคายเคืองขึ้นในหลอดอาหาร หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่เยื่อบุหลอดอาหารได้

           ลักษณะอาการที่เด่นชัดของโรคกรดไหลย้อนคือ มีอาการแสบจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือยอดอก หลังรับประทานอาหาร 30-60 นาที แน่นหน้าอกคล้ายกับอาหารไม่ย่อย อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยได้เช่นกัน เรอเปรี้ยว ขมคอ หายใจมีกลิ่น เสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ แต่จะเป็นมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 1-2 ชม.

 



ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
  • เกิดจากอาการเสื่อมสมรรถภาพของหูรูดหลอดอาหาร สาเหตุอาจมากจากความเสื่อมถอยตามอายุ เพราะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีมักพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ หรือ เกิดจากการที่หูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ซึ่งจะพบมากในทารก หรือเป็นความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และ ยังพบว่าโรคกรดไหลย้อนอาจเป็นผลพวงจากโรคอื่นๆได้ด้วย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไส้เลื่อนดันกระบังลม และ ภาวะการตั้งครรภ์
  • เกิดจากพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น รับประทานอาหารปริมาณมากๆในมื้อเดียว ทำให้น้ำย่อยที่หลั่งออกมามีปริมาณมาก กระเพาะอาหารขยายตัวมากขึ้น ทำให้หูรูดคลายตัว นิสัยกินแล้วนอน กินแล้วนั่งงอตัว หรือโค้งตัวต่ำลง โดยเฉพาะหลังจากทานอาหารภายใน 2 ชม. แม้แต่การใส่กางเกงหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไปก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้
  • เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงอย่างชาและกาแฟ นอกจากจะกระตุ้นการเกิดโรคกระเพาะอาหารแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะหูรูดคลายตัวที่เป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนได้
  • เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงๆ ของทอดๆ มันๆ จะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวช้าลง ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้มากขึ้นเช่นกัน
  • เกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต การรับประทานอาหารรสจัด เผ็ด เปรี้ยว บ่อยๆปริมาณมากๆ ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ทำให้หูรูดคลายตัวและมีกรดในกระเพาะอาหารสูง




แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร และ โรคกรดไหลย้อน
  • รับประทานอาหารให้ตรงต่อเวลา
  • รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป
  • งดการรับประทานอาหารมันๆ และอาหารรสชาติจัดจ้านมากเกินไป
  • ลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
  • ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่กินแล้วนอนเลย




การรับประทานข้าวจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป
          ชีวิตที่เร่งรีบจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะข้าวสำเร็จรูปตราอรุณสวัสดิ์ ข้าวผัดพร้อมทาน ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัดพริกไทยดำผสมเนื้อไก่เจ ข้าวผัดแกงเขียวหวานผสมเนื้อไก่เจ หรือข้าวผัดต้มยำผสมเนื้อไก่เจ ใช้เวลาอุ่นจากไมโครเวฟแค่ 1 นาทีเท่านั้น ก็มีข้าวมื้อด่วนๆที่ไม่ต้องยุ่งยากคอยต่อแถวรอกันแล้ว ทั้งรวดเร็ว สะดวก สะอาด และปลอดภัยจากธรรมชาติ 100% คุณภาพมาตรฐาน เหมาะสำหรับชีวิตที่เร่งรีบ แถมยังช่วยให้เราไม่เป็นโรคกระเพาะอาหารหรือโรคกรดไหลย้อนอีกด้วย

  พร้อมเสิร์ฟข้าวสำเร็จรูปตราอรุณสวัสดิ์ไปเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาโรคกระเพาะอาหารหรือโรคกรดไหลย้อนกันแล้ว สามารถเลือกซื้อข้าวสำเร็จรูปตราอรุณสวัสดิ์ได้ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://www.aroonsawat.com/ และ LAZADA

 




ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.lovefitt.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้